วันเสาร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

งานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว

งานเทศกาลไหม และประเพณีผูกเสี่ยว

ช่วงเวลา วันที่ ๒๙ พฤศจิกายน-๑๐ ธันวาคม ของทุกปี

ความสำคัญ
งานเทศกาลไหมเป็นงานที่จังหวัดขอนแก่นได้จัดขึ้นทุกปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปัจจุบันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพการทอผ้าไหม มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมออกร้านแสดงผลิตภัณฑ์และจำหน่ายสินค้าพื้นเมือง (ผ้าไหม) และของที่ระลึกอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีการแสดงเพื่อฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
ประเพณีผูกเสี่ยว ก็เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นพร้อมกันกับงานเทศกาลไหม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้คนในท้องถิ่นและคนในชาติมีความรักใคร่กลมเกลียว สมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเกื้อกูลกันคำว่า "เสี่ยว" เป็นภาษาถิ่นอีสาน แปลว่า มิตรแท้ เพื่อนแท้ เพื่อนตาย มีความผูกพัน ซื่อสัตย์ และจริงใจต่อกัน

พิธีกรรม
อุปกรณ์ที่สำคัญมีพานบายศรีอาจเป็นบายศรี ๓ ชั้น ๕ ชั้น หรือ ๗ ชั้น และมีเครื่องประกอบอีกหลายอย่าง คือ สุรา ๑ ขวด ไข่ไก่ต้ม ๑ ฟอง ข้าวต้มมัด ๔ ห่อ กล้วยสุก ๔ ผล ข้าวเหนียวนึ่ง ๑ ปั้น ใบพืชที่เป็นมงคล เช่น ใบคูน ใบเงิน ใบทอง ใบยอ ดอกรัก และที่ขาดไม่ได้คือ ฝ้ายผูกแขน
เชิญแขกมงคลมาร่วมพิธี คู่เสี่ยวนั่งล้อมพานบายศรี หมอพราหมณ์เริ่มพิธีด้วยการจุดเทียนที่พานบายศรี อัญเชิญเทวดาลงมาเป็นสักขีพยาน กล่าวถึงงานบายศรีสู่ขวัญเนื่องในโอกาสต่าง ๆ เช่น งานมงคลสมรส มีบุตรใหม่ ขึ้นบ้านใหม่ การเลื่อนยศ การผูกเสี่ยว การบวชนาค ฯลฯ แล้วกล่าวคำอัญเชิญขวัญตามโอกาส เมื่อถึงบทเชิญขวัญผู้ร่วมพิธีจะตะโกนเรียกขวัญของผู้ร่วมพิธีให้มาอยู่กับเนื้อกับตัว จบแล้วหมอพราหมณ์และแขกจะนำด้วยมงคลผูกข้อมือของคู่ขวัญ พร้อมทั้งให้ศีลให้พร ให้รักใคร่สามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ต่อจากนั้นคู่ขวัญก็จะผูกข้อมือซึ่งกันและกัน เป็นอันเสร็จพิธี

สาระ
เรียกขวัญเพื่อเป็นการเตือนสติให้รู้จักภาวะของตนเอง เช่น จะแต่งงาน บวช หรือเสี่ยว จะต้องปฏิบัติอย่างไร เชื่อกันว่า ขวัญสิงสถิตอยู่ในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายและจิตใจ เมื่อทำพิธีเรียกขวัญแล้วก็จะเกิดพลังกายและพลังใจที่เข้มแข็งได้

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ช่วงเวลา
ประมาณเดือนหกของทุกปี

ความสำคัญ
เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่แสดงถึงการเริ่มต้นฤดูทำนา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจ รวมทั้งสิริมงคลแก่เกษตรกรไทย

พิธีกรรม
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประกอบด้วย ๒ พิธีรวมกัน คือ
๑. พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ กระทำกันในวันแรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีขั้นตอนพิธีที่สำคัญดังต่อไปนี้
๑.๑ เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังอัญเชิญพระพุทธรูปประจำรัชกาลต่าง ๆ รวมทั้งรัชกาลปัจจุบัน และเทวรูปองค์สำคัญมาตั้งบนม้าหมู่ในธรรมาสน์ศิลา หน้าฐานชุกชีพุทธบัลลังก์บุษบกพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ใต้ธรรมาสน์ศิลาเป็นกระบุงเงิน กระบุงทองอย่างละคู่ ซึ่งบรรจุข้าวเปลือกพันธุ์ดี และถุงบรรจุเมล็ดพันธุ์พืชชนิดต่าง ๆ เช่น ผักกาด ข้าวโพด แตงกวา ถั่ว ฯลฯ
๑.๒ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งพระยาแรกนา แต่งกายเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเทพีทั้ง ๔ แต่งกายชุดไทย ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร แล้วไปนั่งที่เก้าอี้เฝ้า
๑.๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรและพระพุทธรูปสำคัญ พระราชาคณะถวายศีลจบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระสุหร่ายถวายดอกไม้บูชาแก่พระพุทธคันธารราษฏร์ ทรงอธิษฐานเพื่อความสมบูรณ์แห่งพืชผลของราชอาณาจักรไทย
๑.๔ หัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีพืชมงคล พระสงฆ์เจริญพุทธมนต์
๑.๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงหลั่งน้ำสังข์ พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิมพระราชทานธำมรงค์กับพระแสงปฏักแก่พระยาแรกนา ส่วนเทพีทั้ง ๔ ทรงหลั่งน้ำสังข์พระราชทานใบมะตูม ทรงเจิม พนักงานประโคมฆ้องชัย
๑.๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก
๒. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ กระทำกันในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง ซึ่งจัดตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหม ระนารายณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนพิธีสำคัญตามลำดับดังนี้
๒.๑ พระยาแรกนาพร้อมด้วยเทพีทั้งแต่งกายตามแบบประเพณีโบราณ เดินทางออกจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ไปยังมณฑลพิธีสนามหลวง
๒.๒ พระยาแรกนาเข้าสู่โรงพิธี จุดธูปเทียนบูชาเทวรูปสำคัญ หัวหน้าพราหมณ์หลั่งน้ำสังข์ที่มือ และให้ใบมะตูมแก่พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔
๒.๓ พระยาแรกนาตั้งสัตยาธิษฐาน หยิบผ้านุ่งแต่งกายหรือเสี่ยงทายผ้านุ่ง โดยการสอดมือหยิบผ้านุ่งที่วางเรียงรายอยู่ใต้ผ้าคลุม ซึ่งมีผ้านุ่งรวม ๓ ผืน คือ ขนาดกว้าง ๔ คืบ ๕ คืบ และ ๖ คืบ เมื่อพระยาแรกนาหยิบได้ผ้านุ่งผืนใด จะสวมผ้าผืนนั้นทับลงบนผ้านุ่งเดิม คำพยากรณ์ของผ้านุ่งเสี่ยงทายมีดังนี้
ผ้า ๔ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำจะมาก นาที่ดอนสมบูรณ์ นาที่ลุ่มเสียหายบ้าง
ผ้า ๕ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำมีปริมาณพอดี นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์
ผ้า ๖ คืบ พยากรณ์ว่าน้ำน้อย นาที่ดอนเสียหายบ้าง นาที่ลุ่มสมบูรณ์
๒.๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานในพระราชพิธี พระยาแรกนาเข้ากราบถวายบังคม ๓ ครั้ง และเดินเข้าสู่ลานแรกนาเพื่อเจิมคันไถ เจิมพระโค
๒.๕ ถึงเวลามงคลอุดมฤกษ์ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พราหมณ์เชิญเทวรูปเดินนำหน้าพระโค ตามด้วยพระยาแรกนาเดินไถดะโดยรี ๓ รอบ โดยขวาง ๓ รอบ พร้อมทั้งหว่านธัญญพืชจากกระบุงเงิน กระบุงทองของเทพีทั้ง ๔ ลงบนดิน จากนั้นไถกลบอีก ๓ รอบ
๒.๕ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ เดินกลับไปที่โรงพิธีพราหมณ์ เจ้าพนักงานปลดพระโคออกจากแอก พราหมณ์จัดวางอาหารเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า เมื่อพระโคกินสิ่งใด โหรหลวงจะถวายคำพยากรณ์
๒.๖ เจ้าหน้าที่อ่านรายชื่อเกษตรกรผู้ชนะเลิศการประกวดข้าว เพื่อเบิกตัวเข้ารับพระราชทานโล่เกียรติคุณ
๒.๗ พระยาแรกนาและเทพีทั้ง ๔ ขึ้นรถยนต์หลวงจากมณฑลพิธีสนามหลวง ไปยังแปลงนาทดลองในพระราชฐานสวนจิตรลดา หว่านพืชพันธุ์ธัญญหารที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ลงในแปลงนาทดลอง สำหรับนำไปใช้ในงานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญของปีต่อไป

สาระ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ว่างเว้นไประยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปี
ในสมัยโบราณพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลเป็นพิธีเฉพาะทางพราหมณ์เท่านั้น ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เพิ่มพิธีทางสงฆ์ด้วย ปัจจุบันยังคงยึดถือตามแบบธรรมเนียมการปฏิบัติโบราณ มีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับสมัยนิยม เช่น พระราชพิธีพืชมงคลเพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยพิธีทางสงฆ์ จะทำกันที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกเขตพระนครหรือที่อื่น ๆ บ้าง แต่ในปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญของการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเกษตรกรรมก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นประเพณีไทยหลายอย่างมักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกประจำปี
กำหนดเวลาการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำกันประมาณเดือนหกของทุกปี เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำนาในประเทศไทย แต่ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน เนื่องจากต้องพิจารณาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในแต่ละปี

งานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี

งานแห่พระบรมสารีริกธาตุวัดนางชี
งานบุญประจำปีทางฝั่งธนบุรีที่ถือปฏิบัติกันมาเป็นเวลาช้านาน และเป็นที่รู้จักของคนฝั่งธนบุรีและกรุงเทพฯ อย่างกว้างขวางในสมัยก่อน คือ "งานชักพระวัดนางชี" หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"

วัดนางชีเป็นวัดเก่า ไม่ทราบแน่ชัดว่าสร้างมาตั้งแต่สมัยไหน แต่สันนิษฐานได้ว่าเป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีได้สร้างร่วมกับพระยาฤาชัยณรงค์ และออกหลวงเสนาสุนทร สาเหตุที่สร้างก็เนื่องมาจากแม่อิ่มลูกสาวของเจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีป่วยอย่างไม่รู้สาเหตุ จนกระทั่งมีชีปะขาวมานิมิตเข้าฝันให้เจ้าพระยาพิชิตชัยมนตรีแก้บนโดยให้ลูกสาวบวชชี ดังนั้นเมื่อแม่อิ่มหายป่วย เจ้าพระยาพิชัยมนตรีจึงให้ลูกสาวบวชชีพร้อมกับสร้างวัดนี้ วัดนี้ได้กลายเป็นวัดร้างในปลายแผ่นดินของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ (พระราชาธิราชที่ ๒) เพราะขาดการดูแลเอาใจใส่ ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากอยู่ระหว่างทำสงครามกับพม่าก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ ๒ วัดนี้ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ่อค้าสำเภาชื่อพระยาโชฏึกราชเศรษฐี ซึ่งเป็นพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่ในแผ่นดินสยามได้เป็นผู้บูรณะและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งวัด ได้ดัดแปลงและแก้ไขรูปทรงพระอุโบสถพระวิหารให้เป็นแบบจีน ประดับประดาด้วยเครื่องเคลือบ และนำตุ๊กตาหินแบบจีนและหินปูทางเดินมาจากเมืองจีนเพื่อมาทำการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดนี้ นอกจากนี้ได้ถวายเครื่องใช้แบบจีนเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งเตียงไม้มะเกลือประดับลายหอยมุกและหินอ่อน ซึ่งเป็นของลูกสาวที่เสียชีวิตอยู่บนเตียงนี้เมื่ออายุประมาณ ๑๘ ปี ๑ หลัง เมื่อสร้างเสร็จได้ถวายวัดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเป็นพระอารามหลวง ได้พระนามว่า "วัดนางชีโชติการาม" ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระยาราชานุชิต (จ๋อง) ได้บูรณะและปฏิสังขรณ์วัดนี้อีกครั้งและถวายเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ดังปรากฏอยู่จนทุกวันนี้

ปูชนียวัตถุพิเศษที่สำคัญในวัดได้แก่ พระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกซึ่งมีจำนวนไม่แน่นอน อาจจะเพิ่มหรือลดลงแตกต่างกันไปในแต่ละปี ก่อนที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้ประชาชนสรงน้ำ จะมีการตรวจนับจำนวนพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุสาวกทุกครั้ง เมื่อแห่พระบรมสารีริกธาตุเสร็จแล้วก็จะตรวจอีกครั้งหนึ่งก่อนจะนำไปประดิษฐานเก็บไว้บนกุฎิเจ้าอาวาส พระบรมธาตุนั้นจะมีขนาดเล็กมากคือมีขนาดเท่ากับครึ่งหนึ่งของเมล็ดข้าวสารหัก เวลาตรวจนับจะต้องใช้แว่นขยายช่วยจึงจะมองเห็นชัด กรมหมื่นวิวิธวรรณปรีชาได้เขียนเล่าเกี่ยวกับจำนวนพระธาตุที่เพิ่มขึ้น และลดลงไว้ในหนังสือตำราพระธาตุว่า พระบรมธาตุและพระธาตุนี้ก็เป็นของแปลก ถ้าเป็นพระบรมธาตุก็ว่าเสด็จมาเองบ้าง เสด็จไปเองบ้าง ครั้งหนึ่งประมาณ ๒๐ ปีล่วงแล้ว เขาพูดว่าพระบรมธาตุที่วัดนางชี อำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี บางปีก็มี

จำนวนเพิ่มขึ้นบางปีก็มีจำนวนลดลง ที่ว่าไปพิสูจน์นั้น ได้เป็นจริงดังที่เขาว่ากัน ปีแรกที่ไปดูมีจำนวนมาก ครั้งที่สองน้อยลง ครั้งที่สามจำนวนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึงจำนวนที่ไปดูครั้งแรก สงสัยว่าทางวัดจะเอาออกหรือเพิ่มขึ้นเพื่อลวงว่ามีอภินิหาร ถามเจ้าอาวาสท่านบอกว่าไม่เคยเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสมาหลายปีแล้วไม่เคยเอาออกมาดูเลย เอาออกมาสรงน้ำปีละครั้งคือวันแห่และตรวจต่อหน้ากรรมการด้วย

พระบรมสารีริกธาตุที่วัดนางชีมิได้บรรจุไว้ในพระเจดีย์ดังเช่นพระบรมธาตุที่อื่นแต่บรรจุไว้ในผอบแก้วซึ่งเป็นขวดน้ำหอมจากฝรั่งเศสที่ชาววังใช้น้ำหอมผสมน้ำอาบกันในสมัยก่อน แล้วประดิษฐานไว้ ณ มณฑปที่จัดทำเป็นพิเศษ ตามประวัติที่เล่ากันต่อ ๆ มากล่าวว่า เมื่อ ประมาณ พ.ศ ๑๒๑๙ คณะพราหมณ์ ๓ ท่าน และชาวจีน ๙ ท่าน ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุผอบทองคำ ๒ ผอบมาโดยเรือสำเภาจากชมพูทวีป เพื่อไปประดิษฐานไว้ที่เมืองปทาคูจาม อาณาจักรศรีวิชัย (นครศรีธรรมราช) และที่เมืองเชียงใหม่อีกแห่งหนึ่ง แต่เมื่อได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานที่เมืองนครศรีธรรมราช (ในปัจจุบันนี้ได้บรรจุพระบรมธาตุไว้ในพระสถูปเจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วได้เดินทางต่อไปจนเรือได้เกิดอุบัติเหตุล่มลงที่ตรงบริเวณปากน้ำคลองด่านปัจจุบัน (ตามสภาพภูมิศาสตร์ในสมัยอาณาจักรศรีวิชัยทางแถบเมืองธนบุรียังเป็นป่าทึบ และพื้นดินยังไม่งอกออกมามากมายเท่าในปัจจุบัน) คณะพราหมณ์และชาวจีนจึงได้

พร้อมใจกันอัญเชิญเสด็จพระบรมสารีริกธาตุขึ้นห่างจากที่เรือล่มประมาณ ๕ไมล์ เมื่อเห็นว่าปลอดภัยดีก็ตกลงอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ ที่นั้น แต่ไม่ทราบว่าได้ประดิษฐานไว้อย่างไร เมื่อนานเข้าผอบทองที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุนั้นได้ถูกฝังจมดิน พระบรมสารีริกธาตุที่ทูลเชิญเสด็จมาในครั้งนั้นมีด้วยกัน ๕ พระองค์คือ พระบรมสารีริกธาตุที่ส่วนใหญ่ ส่วนแขน ซี่โครง หัวเข่าและขา ต่อมาในสมัยพระชัยราชา (พระเอก) กษัตริย์องค์ที่ ๑๓ แห่งกรุงศรีอยุธยา ประมาณปี พ.ศ. ๒๐๘๒ เป็นปีที่วัดนางชีสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบรมสารีริกธาตุเสด็จขึ้นมาให้ปรากฏแก่แม่ชีอิ่มให้เห็นทั้ง ๕ พระองค์ แม่ชีอิ่มได้ทูลเชิญเสด็จบรรจุไว้ในผอบแก้วและได้ประดิษฐานไว้ ณ วัดนางชีแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา


ช่วงเวลา
จัดขึ้นในวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี หลังจากวันลอยกระทงและเทศน์มหาชาติแล้ว ทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ หรือที่รู้จักกันในสมัยก่อนว่า "งานชักพระ" หรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า "งานแห่พระบรมสารีริกธาตุ"


ความสำคัญ
เป็นงานชักพระแห่งเดียวที่จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และยังแตกต่างไปจากงานชักพระทางจังหวัดภาคใต้ซึ่งเป็นประเพณีอันสืบเนื่องมาจากพระพุทธประวัติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จจากดาวดึงส์เมื่อเสด็จมาจากดาวดึงษ์แล้ว จึงอัญเชิญพระพุทธองค์ประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้แห่แหนไปสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดทำกันในวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๑๑ อันเป็นวันออกพรรษาโดยอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นไปประดิษฐานบนบุษบกที่อยู่บนรถหรือบนเรือแล้วให้เรือชาวบ้าน หรือคนช่วยกันจับปลายเชือกลากพระไป แต่งานชักพระวัดนางชีเป็นการเชิญพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุสาวกขึ้นประดิษฐานบนบุษบกแทนแล้วชักแห่ไปทางเรือจากหน้าวัดนางชีไปตามลำคลองด่าน เลี้ยวซ้ายออกไปตามคลองบางกอกใหญ่ และผ่านมาช่วงปลายของคลองซึ่งเรียกว่าคลอง

ชักพระ (ปัจจุบันนี้คำว่าคลองชักพระยังปรากฎเป็นชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในบริเวณนั้น เช่น ตำบลคลองชักพระ สะพานคลองชักพระ ถนนชักพระ เป็นต้น) แล้วอ้อมไปทะลุคลองบางกอกน้อยล่องขบวนไปตามคลองบางกอกน้อย คาดว่าพอถึงวัดไก่เตี้ยเขตตลิ่งชันประมาณตอนเพลหยุดขบวนและขึ้นเลี้ยงพระที่นั่น เสร็จแล้วก็ล่องขบวนไปออกปากคลองบางกอกน้อย เลี้ยวขวาเลียบมาตามลำน้ำเจ้าพระยาแล้วมาเข้าคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แล้ววกมาเข้าปากคลองด่านกลับไปยังวัดนางชีตามเดิม การแห่ครั้งนี้ชาวบ้านมักเรียกว่า "แห่อ้อมเกาะ"


พิธีกรรม
ในสมัยก่อนงานชักพระวัดนางชีเป็นงานเทศกาลประจำที่ครึกครื้นมโหฬารที่สุดในแถบนั้น ผู้ที่เข้าขบวนแห่จะแต่งตัวกันอย่างสวยงาม ประณีต เรียบร้อยจะเตรียมซื้อเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไว้ตั้งแต่มีงานภูเขาทอง เป็นที่เชื่อกันว่าในปีใดถ้าไม่มีการแห่พระบรมธาตุจะต้องมีอันเป็นไปอันทำให้ชาวบ้านแถบนั้นเกิดโรคภัยไข้เจ็บหรือภัยพิบัติต่าง ๆ แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทางรัฐบาลห้ามไม่ให้มีการแห่แหนหรือจัดงานใดเลย แต่งานแห่พระบรมธาตุก็ยังคงต้องดำเนินไปตามประเพณีโดยได้รับอนุญาตเป็นพิเศษ ขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในสมัยก่อนจะเป็นขบวนเรือพายช่วยกันชักจูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไป ทางวัดจะนำพระบรมสารีริกธาตุมาให้สรงน้ำแต่เช้าตรู่ และจะเริ่มเคลื่อนขบวนออกจากวัดตั้งแต่ ๖.๐๐ น. ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้นำพระบรมสาริริกธาตุมาให้สรงน้ำตั้งแต่เวลา ๑๗.๐๐ ของวัน แรม ๑ ค่ำเดือน ๑๒ จนถึงเวลา ๙.๐๐ น. ของวันต่อมา เรือที่มาร่วมขบวนมีจำนวนหลายร้อยลำและมาจากตำบลทั้งใกล้และไกล เรือที่มา

ร่วมขบวนแห่มีหลายแบบ ผู้คนในเรือแต่ละลำก็จะแต่งตัวให้เหมือนกันแล้วแต่จะตกลงกัน บางลำก็แต่งเป็นตัวตลกเช่นใส่หัวล้านทั้งลำ หรือจัดให้มีการเล่นละคร ลิเก เพลง ในเรือเป็นการสนุกสนาน นอกจากนั้นก็มีเรือที่ลากจูงเรือพระบรมธาตุ เรือพวกนี้จะเป็นเรือที่ตกแต่งหัวเรือและท้ายเรือไว้อย่างสวยงาม เช่น เป็นหัวสุครีพ หงส์ เป็นต้น เรือพวกนี้ทางวัดต่าง ๆ จะจัดเตรียมไว้ พอจวนถึงงานชักพระในละแวกนั้นจะไปยืมเรือที่วัดมาเตรียมยาเรือและตกแต่งเพื่อเข้าขบวนแห่ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุจะเป็นเรือต่อขนาดใหญ่ตกแต่งอย่างสวยงามมีวงปี่พาทย์บรรเลงสมโภชไปในเรือตลอดทาง กาญจนาคพันธุ์ เล่าไว้ว่า กระบวนแห่ชักพระนั้นเป็นเรือยาวอย่างที่เรียกกันว่า "เรือแล่น" ...ลงน้ำมันสวยสดงดงามนั่งได้อย่างน้อยก็ ๕-๖ คน พายก็ใช้พายที่เรียกว่า "พายคิ้ว" คือมีลวดลายตลอดกลางใบพาย ทุกลำมีแพรแดงผูกที่หัวเรือ ...เรือที่มีคนพาย

แต่งชุดต่าง ๆ แปลก ๆ เหล่านี้มีตั้ง ๒๐๐ ลำ อีกพวกหนึ่งเป็นเรือยาวพวกเรือชะล่า เรือมาด ....เรือพวกนี้คนนั่งอย่างน้อยราว ๒๐ คน......รวมทั้งหมดเห็นจะราวสัก ๕๐ ลำ เรือพวกนี้เข้าใจว่าจะมาจากที่ไกล ๆ ...นอกจากนี้ก็เป็นเรือแล่นที่แสดงการเล่นละคร ลิเก ฯลฯ ในเรือด้วยมีราวสัก ๑๐ ลำ (แต่ไม่ใช่แสดงทั้งโรง ลำหนึ่ง ๆ ก็มีเพียง ๒-๓ ตัว) ส่วนเรือพระนั้นเป็นเรือใหญ่ตั้งบุษบกตกแต่งอย่างสวยงามทั้งลำมีเรือจูงอีกพวกหนึ่งราวสัก ๒๐ ลำ ในขณะที่ขบวนแห่เคลื่อนไปนั้น เมื่อถึงสะพานใดจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นจากเรือ ให้คนถือเดินข้ามสะพานไปลงเรือทางอีกด้านหนึ่งตลอดทางเมื่อถึงวัดไก่เตี้ยจะเปิดโอกาสให้คนบริเวณนั้นลงมาสรงน้ำพระบรมธาตุในเรือขณะที่หยุดพักจะมีการละเล่น การแข่งเรือกันอย่างสนุกสนาน

ระยะต่อมา ได้เปลี่ยนมาใช้เรือยนต์จูงเรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การละเล่นที่สนุกสนานก็ยังคงมีอยู่ เรือที่ตามเรือพระบรมธาตุก็ น้อยลง สมัยนี้ใช้เรือยนต์ลากเรือทรง เรือพายน้อยไปเพราะพายไม่ทันเรือพ่วง พายไม่ทันเลยไม่มีความหมาย เรือก็น้อยลงไปโดยลำดับ เพราะการร่าเริงอยู่ที่จับกลุ่มตามเรือทรงพระบรมธาตุไปเรื่อย ๆ ตามกำลังแรงคน เร็วหรือช้าเขาไม่อุทรณ์ร้อนใจ บางทีนึกสนุกขึ้นมาก็ขึ้นมาช่วยกันเอาเรือทรงผูกไว้ตามต้นไม้ ไม่ยอมให้ไปก็มี เมื่อได้สนุกพอแก่ความต้องการที่ปล่อยเรือจูงลากไป

ก่อนปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เรือที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุเปลี่ยนเป็นเรือยนต์ขนาดใหญ่ ที่ยังจัดตกแต่งเรืออย่างแบบเดิม ส่วนเรือที่ตามขบวนก็เปลี่ยนเป็นเรือหางยาวซึ่งมีผู้ที่จะร่วมขบวนต้องเสียเงินเป็นค่าโดยสารเรือขบวนนั้น ถึงแม้จะไม่มีเรือของชาวบ้านมาร่วมขบวนแห่อย่างเอิกเกริกดังเช่นสมัยก่อน บรรดาชาวบ้านตามริมคลองยังคงมานั่งดูขบวนแห่ตามริมคลองอย่างหนาแน่นพวกที่อยู่ลึกเข้าไปจะพายเรือมาจอดรถดูขบวนเป็นทิวแถว เมื่อขบวนเรือไปใกล้บริเวณวัดไก่เตี้ย เขตตลิ่งชัน จะเริ่มมีขบวนเรือของพวกชาวบ้านพายมาเข้าร่วมขบวนแห่ ยังมีเรือหลายลำแต่งตัวสวยงาม เป็นแบบเดียวกัน บางลำมีการร้องรำทำเพลง เต้นรำกันไปในเรืออย่างสนุกสนาน พอถึงวัดไก่เตี้ยจะเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นประดิษฐานบนที่ซึ่งทางวัดจัดไว้เพื่อให้ชาวบ้านแถบนั้นได้สักการบูชา


สาระ
ท่านผู้สูงอายุหลายท่านเล่าว่าในสมัยก่อนพระบรมสารีริกธาตุมีปาฎิหารย์ปรากฎให้เห็นเสมอ เช่นจะเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดทั่วท้องฟ้าก่อนที่จะแห่พระบรมสารีริกธาตุ หรือมีลูกไฟดวงใหญ่ปรากฏทางทิศตะวันออก หรือเกิดแสงสว่างอย่างประหลาดในบริเวณที่ประดิษฐานพระบรมธาตุนั้น ปาฏิหาริย์เป็นที่เรื่องลือกันและกล่าวขวัญถึงจนทุกวันนี้ก็คือ ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว เมื่อครั้งยังใช้เรือลากจูงเรือพระบรมธาตุเล่ากันต่อ ๆ มาว่า เมื่อขบวนแห่กลับมาถึงหน้าวัดอินทาราม (ใต้) เกิดมีเรื่องทะเลาะวิวาทกันบนเรือ ผู้คนต่างตกอกตกใจ หลบหนีกันชุลมุนจนทำให้เรือพระธาตุล่มลง มณฑปพระบรมธาตุและผอบที่บรรจุพระบรมธาตุที่ตั้งอยู่บนบุษบกโค่นหล่นน้ำจมลงกลางคลองตอนเวลาประมาณบ่าย ๒ โมงเศษ ชาวบ้านช่วยกันงมหาก็ไม่พบ ในที่สุดขบวนแห่ต้องกลับวัดนางชีโดยไม่มีพระบรมธาตุไปด้วย เจ้าอาวาสเสียใจมาก เมื่อ

กลับมาถึงวัดทำพิธีอาราธนาพระบรมธาตุให้กลับมาวัดนางชีดังเดิม หลังจากนั้นไม่กี่วันมีชาวบ้านบริเวณวัดอินทาราม (ใต้) เห็นผอบแก้วที่บรรจุพระบรมธาตุตั้งอยู่บนแท่นโคนโพธิ์ จึงได้อัญเชิญมาถวายวัดนางชีดังเดิม ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ งานแห่พระบรมสาริริกธาตุได้เปลี่ยนไปจัดในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ หลังวันลอยกระทง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และ ๒๕๓๑ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มาเป็นประธานในการแห่พระบรมสารีริกธาตุ ขบวนเรือที่ที่เข้าร่วมขบวนแห่ได้ตกแต่งเป็นเรือบุบผาชาติอย่างสวยงาม และกองทัพเรือได้จัดเรือดั่งพร้อมฝีพายมาร่วมขบวนด้วย และจัดเป็นเรืออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ